HomeAbout usNewsPaperPresentationLibraryGraduate School at KU
 
 
 
ออกภาคสนามสำรวจการพิบัติของลาดดิน บริเวณลุ่มน้ำสรอย อ.วังชิ้น จ.แพร่
 
1. สภาพทั่วไปของลุ่มน้ำสรอย
ลุ่มน้ำสรอย ตั้งอยุ่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่สรอย ตำบลสรอย ตำบลป่าสัก และ ตำบลแม่พุง อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ ระวางแผนที่ 4844 I , 4844 II , 4944III , 4944 IV เป็นลุ่มน้ำย่อยของกลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำยมตอนล่างในลุ่มน้ำหลักลุ่มน้ำยม อยู่ห่างอำเภอวังชิ้นประมาณ 30 กิโลเมตร พื้นที่ลุ่มน้ำสรอย มีเนื้อที่ประมาณ 156,855.25 ไร่ โดยจำแนกได้ดังนี้
     1) พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 80,947.15 ไร่
     2) พื้นที่ป่าเศรษฐกิจ 38,680.58 ไร่
     3) พื้นที่กันออก 37,227.52 ไร่
 .
2. ลักษณะพื้นที่
(1) ลักษณะทั่วไป
     สภาพพื้นที่เป็นภูเขาล้อมรอบพื้นที่ราบ ที่ราบระหว่างภูเขา ที่ราบสลับเนินเขา ภูเขาทอดยาวตามแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ – ตะวันตกเฉียงใต้ มีความลาดชันตามไหล่เขามากกว่า 45 เปอร์เซ็นต์ สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 100- 1,200 เมตร ดินเป็นดินเหนียวปนทรายและดินลูกรัง มีการพังทลายของหน้าดินปานกลาง สภาพป่าสมบูรณ์ส่วนมากอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย ส่วนอื่นเป็นสภาพเสื่อมโทรมที่กำลังจะฟื้นตัว ได้รับผลกระทบจากไฟป่า พื้นที่การเกษตรอยู่บริเวณริมห้วย
     ห้วยแม่สรอย มีห้วยแม่อาง ห้วยแม่ปะยาง ห้วยแม่หละ ห้วยแม่กระต๋อม ห้วยแม่ตื้ด ห้วยแม่ขมิงและห้วยแม่คำมวก เป็นห้วยสาขาหลัก รูปร่างของลุ่มน้ำสายนี้จึงมีลักษณะเป็นรูปขนนกหรือก้างปลา กล่าวคือมีลำน้ำสายหลักและมีลำน้ำสาขา ซึ่งมีลักษณะเป็นลำน้ำเล็ก ลำน้ำน้อยมาบรรจบกัน มีน้ำไหลตลอดปี มีหมู่บ้านตั้งอยู่ตามลำห้วย 27 หมู่บ้าน 3 ตำบล คือ บ้านแม่ตื้ด บ้านป่าคา บ้านปางไฮ บ้านป่าม่วง บ้างปางมะโอ บ้านสวนป่าสรอย ตำบลแม่พุง บ้านแม่กระต๋อม(หมู่ที่ 1,6,10) บ้านปางไม้ บ้านใหม่ป่าสัก บ้านสองแควบน บ้านโป่งตื้ด บ้านสองแควล่าง บ้านป่าสัก บ้านปางไม้พัฒนา ตำบลป่าสัก และบ้านม่วงคำ บ้านแม่ขมิง บ้านป่าป๋วย บ้านแม่ขมวก บ้านแม่หละ บ้านปางงุ้น บ้านแพะทุ่งเจริญ(ไฮย้อย) บ้านแพะดอนมูล บ้านดงเจริญ บ้านม่วงคำใต้ บ้านโฮ่ง(เจริญสุข) ตำบลสรอย
(2) ภูมิอากาศ
     จัดอยู่ในภูมิอากาศประเภทฝนเมืองร้อน ซึ่งมีช่วงฝนสลับแล้งแตกต่างกันอย่างชัดเจน ในรอบคาบ 6 ปี (2540 – 2545 ) มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,691.1 มิลลิเมตร/ปี ปริมาณน้ำฝนสูงสุด ปี2544 เท่ากับ 2,984.2 มิลลิเมตร อุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุด 33.8 องศาเซลเซียล อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุด 21.3 องศาเซลเซียล เฉลี่ยต่อปี 27.5 องศาเซลเซียล ในรอบปีแบ่งได้ 3 ฤดู ดังนี้
     ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ – พฤษภาคม โดยเดือนเมษายนมีอุณหภูมิสูงสุด
     ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – ตุลาคม มีปริมาณน้ำฝนสูงสุดในเดือนพฤษภาคมและเดือนกันยายน
     ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน - กุมภาพันธ์ อากาศหนาวจัดในเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม
(3) ชนิดและพันธ์ไม้
     ลักษณะเป็นป่าเบญจพรรณ (Mixed Decduous Forest ) ประเภทมีไม้สักปะปน ชนิดไม้ที่พบ ได้แก่ สัก มะค่าโมง ประดู่ แดง ตะแบก คอแลน เป็นต้น ไม้พื้นล่าง ได้แก่ ไม้ไผ่เฮี้ย ไผ่คราย หญ้าดอกไม้กวาด หญ้าคา เป็นต้น
(4) ประชากร
     หมู่บ้านในพื้นที่มี 27 หมู่บ้าน 3 ตำบล แบ่งเป็น หมู่ที่ 1-10 ตำบลป่าสัก จำนวนครัวเรือน 1,644 ครัวเรือน ประชากร 5,735 คน หมู่ที่ 1-11 ตำบลสรอย จำนวนครัวเรือน 1,714 ครัวเรือน ประชากร 6,424 คน และหมู่ที่ 6, 7, 8, 9, 12, 14 ตำบลแม่พุง จำนวนครัวเรือน 866 ครัวเรือน ประชากร 3,518 คน ดังแสดงในตาราง

.

3. ปัญหาและสาเหตุที่ทำให้เกิดการพิบัติ
     1) สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากกระแสน้ำ จากการที่ฝนตกหนัก ทำให้น้ำแม่สรอยล้นตลิ่ง
     2) สภาพป่าในเขตพื้นที่อนุรักษ์ที่อยู่นอกเขตอุทยานแห่งชาติเวียงโกศัยในอดีตเคยมีการถางป่าเพื่อการทำไร่ข้าว , ข้าวโพด และข้าวเปลือก ในลักษณะไร่เลื่อนลอย กำลังฟื้นตัวแต่ยังไม่สมบูรณ์ ประกอบกับไฟป่า และการลักลอบตัดไม้เพื่อทำที่อยู่อาศัยและการค้า ทำให้มีการฟื้นตัวช้า ดังนั้นจึงเป็นผลให้ดินจืด ดินเค็ม และเริ่มเกิดการสไลด์ของของดิน ซึ่งเดิมลำน้ำแม่สรอยมีความลึกมาก แต่เนื่องจากบริเวณที่มีการบุกรุกเพื่อทำไร่ดังกล่าว ทำให้เกิดการพังทลายของดิน เป็นตะกอนลงมาในร่องน้ำ จนทำให้ร่องน้ำตื้นเขินหมดไม่มีสภาพเป็นร่องน้ำเหลืออยู่
การพังทลายของดินที่เกิดขึ้นในบริเวณต้นน้ำของน้ำแม่สรอย ส่วนมากเกิดในบริเวณลาดเขาด้านใต้ของน้ำแม่สรอย ซึ่งเป็นบริเวณหินโผล่ของหน่วยหิน Tr7 โดยส่วนล่างเป็นหินกรวดมนเนื้อละเอียด หินทราย หินทรายแป้ง หินดินดานสีดำ และหินทัพฟ์สลับกัน ส่วนกลางเป็นหินดินดาน หินทรายและหินทรายแป้ง และหินปูนสีเทาถึงดำสลับกัน ในส่วนบนเป็นหินดินดานสีเทาถึงเทาดำชั้นหนา สลับกับหินทราย หินทรายแห้งและหินโคลน หินชุดนี้มีแนวแตกและแนวรอยเลื่อนในเนื้อหินมาก เนื่องจากอยู่ในกลุ่มแนวรอยเลื่อนเถิน ซึ่งมีแนวรอยเลื่อนอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ – ตะวันตกเฉียงใต้ แนวรอยเลื่อนสาขาของกลุ่มแนวรอยเลื่อนเถินจะพาดผ่านหน้าเขา ซึ่งขนานกับแนวของน้ำแม่สรอย
     3) การบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำการเกษตรและที่อยู่อาศัย
     ขาดมาตราการทางกฎหมายและการแสดงแนวขอบเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ไม่ชัดเจน      ขาดการพัฒนาข้อมูลระบบเครือข่ายที่เป็นมาตราฐานเดียวกันเพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่เหมาะสม
     ชุมชนขาดจิตสำนึกในการอนุรักษ์ ขาดความเป็นเจ้าของขาดผู้นำ ขาดความรู้ ไม่เห็นความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ
.
4. ความเสียหายที่เกิดขึ้น
     ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นบริเวณอำเภอวังชิ้น จ.แพร่ เกิดขึ้นในเวลาเดียวกับการพิบัติบริเวณ อำเภอศรีสัชนาลัย จ. สุโขทัย โดยเกิดวันที่ 2 – 3 พฤษภาคม 2544 มีฝนตกหนักบริเวณอำเภอวังชิ้ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านตั้งแต่เขื่อนภูมิพล อำเภอแม่พริก อำเภอเถิน จังหวัดลำปางและอำเภอวังชิ้นจังหวัดแพร่ โดยมีปริมาณฝนสูงสุดเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2544 ดังนั้นจึงมีผลให้เกิดฝนตกหนักเป็นเวลานาน ทำให้ดินบนลาดเขาไม่สามารถดูดซึมน้ำได้ทั้งหมดจึงเกิดการไหลลงมาตามลาดเขาพร้อมกับน้ำฝนที่ตกลงมา สามารถสรุปความเสียหายโดยย่อได้ดังแสดงในตารางที่ 6 - 6
รวมผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 38 คน สูญหาย 3 คน โดยเฉพาะที่บ้านโฮ่ง หมู่ที่ 5 ตำบลสรอย ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด 16 คนและสูญหาย 4 คน รวมมูลค่าความเสียหายทางทรัพย์สิน ประมาณ 177.1 ล้านบาท
 
สภาพความเสียหายบริเวณ อ. วังชิ้น จังหวัดแพร่
 
5. แนวทางการป้องกันภัย
1. สร้างจิตสำนึกให้ประชาชนในพื้นที่ มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่โดยมีการเรียนรู้และร่วมกันวางแผนป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติในชุมชน และร่วมกันสังเกตุสิ่งบ่งชี้การแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า เช่น มีการเพิ่มของระดับน้ำในลำน้ำอย่างรวดเร็วหรือไม่ เป็นต้น
2. การควบคุมน้ำท่วมโดยการสร้างเขื่อนหรือฝายเก็บน้ำ
3. ควบคุมการใช้และการพัฒนาที่ดินในบริเวณน้ำท่วม
4. การจัดทำแผนที่เสี่ยงภัยและกำหนดเขตพื้นที่เสี่ยงภัย
5. การเตรียมการด้านการอพยพโยกย้าย คน สัตว์และสิ่งของ ขณะเกิดภัยน้ำท่วม
Prev...Prev...This page..